เขียนแผนงาน/ โครงการวิจัยอย่างไรจึงได้ทุนวิจัย
26 กรกฏาคม พ.ศ. 2559 ฝ่ายวิจัย คณะพยาบาลศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ เปิดอ่านแล้ว 3 ครั้ง

ฝ่ายวิจัยฯ คณะพยาบาลศาสตร์ ม.บูรพา ได้จัดโครงการการส่งเสริมศักยภาพคณาจารย์ในการทำวิจัย เรื่อง “เขียนแผนงาน/ โครงการวิจัยอย่างไรจึงได้ทุนวิจัย” โดยมุ่งแหล่งทุนระดับประเทศ ผลการเสวนาได้ข้อสรุปเพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับคณาจารย์ในคณะพยาบาลศาสตร์ ดังนี้

๑. มีการวางแผนการเตรียมความพร้อมการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัย เช่น กำหนดช่วงเวลาทบทวนวรรณกรรม ช่วงเวลาเขียน ช่วงตรวจสอบประเมินคุณภาพข้อเสนอ หรือช่วงส่งข้อเสนอ

๒.  ชื่อข้อเสนอโครงการวิจัยมีความน่าสนใจ ชัดเจน และตอบสนองต่อความจำเป็นของประเทศหรือความต้องการของแหล่งทุน

๓.     การขอรับทุนสนับสนุน ในรูปแบบชุดแผนงานวิจัย ที่มีโครงการวิจัยย่อย ควรเป็นโครงการต่อเนื่องตั้งแต่ ๒ ปีขึ้นไปตามที่เป็นไปได้จริง

๔.  ข้อเสนอโครงการวิจัยที่มีความร่วมมือระหว่างเครือข่ายหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแบบสหสาขาวิชาชีพ อาทิเช่น หน่วยงาน สถาบัน องค์กรวิชาชีพ โรงพยาบาล เทศบาล สำนักงานสาธารณสุข และชุมชน เป็นต้น มีความเป็นได้ที่จะได้รับการสนับสนุนมากกว่า

๕.  เขียนความสำคัญของปัญหาให้ชัดเจน มีความเชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผล สอดคล้องกับชื่อเรื่อง และวัตถุประสงค์การศึกษา

๖. ระเบียบวิธีวิจัยมีขั้นตอนและกระบวนการทำวิจัยที่ถูกต้อง กระชับ ชัดเจน และตอบวัตถุประสงค์การวิจัยครบถ้วน

๗.      ระบุกลุ่มตัวอย่างที่เหมาะสมกับโจทย์วิจัยและมีความเป็นไปได้

๘.  การทบทวนวรรณกรรม ควรค้นคว้า ศึกษา รวบรวม ประมวลและสังเคราะห์ผลงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อวิจัย จากแหล่งข้อมูลอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ และเป็นแหล่งปฐมภูมิ

๙.      ระบุเครื่องมือที่จะใช้ในการวิจัยให้ชัดเจน รวมทั้งที่มาและคุณภาพเครื่องมือวิจัย

๑๐. ระบุสถิติที่จะใช้ให้ตรงและสอดคล้องกับเรื่องที่ศึกษา เพื่อให้ได้คำตอบของปัญหาการวิจัยที่ตรงกับที่ได้ระบุไว้ในโครงร่างวิจัย

๑๑.  ควรมีนักวิจัยหน้าใหม่เป็นผู้ร่วมวิจัยด้วยเพื่อส่งเสริมการสร้างนักวิจัย

๑๒.  กำหนดงบประมาณตามที่แหล่งทุนระบุ ครอบคลุมสิ่งที่จำเป็น และตามความเป็นจริง

๑๓.ประโยชน์ที่จะได้รับจากการวิจัย ตอบสนองความต้องการของผู้วิจัย แหล่งทุนได้อย่างตรงประเด็น มีแผนการถ่ายทอดสู่กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนและควรระบุว่างานวิจัยนี้จะได้บทความวิจัยกี่เรื่อง สิทธิบัตรกี่เรื่อง หรือหนังสือ เป็นต้น

๑๔.  เมื่อเขียนเสร็จแล้วควรให้เพื่อนร่วมงาน หรือผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบคุณภาพข้อเสนอโครงร่างวิจัย และปรับแก้ไขตามข้อเสนอแนะของผู้ประเมินคุรภาพก่อนส่งขอทุนวิจัย

๑๕.เขียนข้อเสนอโครงร่างวิจัยตามองค์ประกอบและรูปแบบ (Format) ที่แหล่งทุนกำหนดเท่านั้น