Research opportunities and concerns
27 กรกฏาคม พ.ศ. 2559 ภญ.อ.ญาณิดา รักษ์ชูชีพ คณะเภสัชศาสตร์ เปิดอ่านแล้ว 2 ครั้ง

การเขียนข้อเสนอโครงงานวิจัยเพื่อให้ได้ทุนวิจัยจากแหล่งทุนที่เราต้องการนั้น ควรเขียนแผนหรือแนวทางวิจัยก่อนดำเนินการเขียนโครงงานวิจัย โดยแผนการเขียนที่เราจะวางแนวทางนั้นควร…

1. สื่อความหมายให้เข้าใจได้ง่ายว่าประสงค์ศึกษาสิ่งใด หรือปัญหาที่จะทำการวิจัยคืออะไร

2. ข้อเสนอโครงงานวิจัยควรชัดเจนและกะทัดรัด

3. ควรกำหนดโครงงานวิจัยให้อยู่ในรูปแบบที่เป็น ประโยคสมบูรณ์ หรือข้อความวลี

การเขียนโครงร่างข้อเสนอของงานวิจัยนั้น ถือเป็นจุดที่จะช่วยลดความผิดพลาดจากมากไปน้อยได้ และช่วยให้การทำงานวิจัยเป็นแบบแผน มีการดำเนินงานที่เป็นระบบและเห็นภาพมากขึ้น โดยการเขียนโครงร่างข้อเสนองานวิจัยควรเริ่มเขียนในแต่ละส่วน โดยอาจเริ่มจาก โครงร่างส่วน Introduction ก่อน เพื่อให้ล้อไปตามกรอบของงานวิจัยที่จะเสนอ โดยการเขียนนั้น เราจะไล่เรียงตามลำดับดังนี้ เริ่มด้วยปัญหาและความสำคัญที่นำมาสู่งานวิจัย เพื่อนำเสนอสิ่งที่เราสงสัย หรือสิ่งที่เป็นปัญหาที่นำมาสู่การทำงานวิจัยในครั้งนี้ ต่อมาเป็นงานวิจัยที่มีการดำเนินงานมาในอดีตเพื่อค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยที่เราสนใจจะทำ โดยงานวิจัยส่วนใหญ่นั้นเมื่อเริ่มเขียนโครงงานวิจัยไปได้สักระยะหนึ่งจะมาพบว่าเคยมีผู้ทำงานวิจัยแบบที่เราสนใจไปแล้ว ดังนั้นกระบวนการสืบค้นงานวิจัยที่มีการดำเนินงานมาในอดีตจะช่วยลดโอกาสเกิดความผิดพลาดในการทำงานวิจัยซ้ำซ้อนได้ และลดการเสียเวลาสำหรับผู้ที่ทำงานวิจัยได้ สุดท้ายคือการเขียนสิ่งที่จะนำเสนอในข้อเสนอในโครงการนี้ เพื่อให้ผู้ที่พิจารณาทุนได้ทราบถึงสิ่งที่เราจะทำวิจัย โดยจุดนี้คือจุดสำคัญที่ผู้พิจารณาทุนนั้นจะให้ความสำคัญในการพิจารณาเลือกให้ทุนแก่ผู้วิจัย

 

ต่อมาคือการเขียนในส่วน Objective ให้ชัดเจนและสอดคล้องกับโจทย์วิจัย ถัดจากการเขียนในส่วน Objective มาคือ Methodology ที่ควรร่างไว้เพื่อให้เราเห็นถึงขอบเขตและลักษณะกระบวนการของงานวิจัยที่เราจะทำ ผู้วิจัยจะได้ทราบถึงรายละเอียดอย่างคร่าว ๆ และระยะเวลาที่งานวิจัยจะดำเนินไปได้ เมื่อเขียนครบแล้วควรทบทวนสิ่งที่เขียนมาโดยผู้วิจัยเอง และเพื่อน ๆ หรือผู้เชี่ยวชาญ และหาจุดอ่อน จุดบกพร่องเพื่อแก้ไข ปรับปรุง เช่น อาจมีการเขียนโดยภาษาที่ยังไม่ชัดเจน หรือการบวนการดำเนินงานวิจัยยังไม่ชัดเจน เมื่อทราบถึงจุดบกพร่องแล้วทางผู้เขียนโครงร่างงานวิจัยจะได้นำมาปรับปรุงเพื่อให้โอกาสในการได้ทุนวิจัยนั้นมีอัตราสูงขึ้น

 

โดยการพิจารณาตัดสินว่าจะได้ทุนในการทำวิจัยหรือถูกปฏิเสธทุนวิจัยจากแหล่งทุนนั้น ประกอบไปด้วยปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

1. ปัจจัยภายนอก ได้แก่

แหล่งทุน - โดยแหล่งทุนแต่ละแห่งมีเรื่องที่สนใจแตกต่างกัน ดังนั้นงานวิจัยของเราไปในทางด้านใด ควรเลือกแหล่งทุนที่ล้อไปตามลักษณะงานวิจัยของเราเพื่อให้มีโอกาสได้รับทุนสูงขึ้น

กรรมการประเมิน - การอ่านงานวิจัย และ ดุลพินิจของผู้อ่านงานวิจัยมีผลต่อความเป็นไปได้ที่ผู้วิจัยจะได้รับทุน ทั้งนี้ทั้งนั้นปัจจัยนี้ถือเป็นปัจจัยเหนือการควบคุมของผู้ทำงานวิจัย

กระบวนการประเมิน - โดยกรรมการประเมินและแหล่งทุน

2. ปัจจัยภายใน ได้แก่

ความน่าสนใจของโจทย์วิจัย - ปัจจัยนี้ขึ้นอยู่กับทักษะการเขียนของผู้ทำงานวิจัยว่าเขียนอย่างไรให้งานวิจัยของท่านนั้นน่าสนใจ น่าดึงดูดต่อผู้ประเมินงานวิจัยของแหล่งทุน

คุณภาพข้อเสนอโครงการ*** - ปัจจัยนี้ขึ้นอยู่กับผู้เขียนงานวิจัยโดยตรงซึ่งสามารถควบคุมให้เป็นไปในทิศทางที่เราต้องการ เพื่อให้ตอบโจทย์ต่อแหล่งทุน และความสนใจของผู้ทำงานวิจัย เพื่อให้มีโอกาสในการได้รับทุนสูง

CV ผู้สมัคร – ปัจจัยนี้ก็ถือเป็นสิ่งน่าสนใจสำหรับแหล่งทุนในการประเมิน อนุมัติงานวิจัยจากความน่าเชื่อถือ ของประวัติผู้ทำงานวิจัย

 

ข้อเสนอแนะในการเขียนข้อเสนอโรงการวิจัยนั้นมีดังนี้

1. การเขียนโครงร่างของข้อเสนอโครงการ (Outline) – การเขียนโครงร่างข้อเสนอของงานวิจัยในแต่ละส่วนนั้น เริ่มจาก โครงร่างส่วน Introduction ก่อน เพื่อให้ล้อไปตามกรอบของงานวิจัยที่จะเสนอ โดยการเขียนนั้น เราจะไล่เรียงตามลำดับดังนี้ เริ่มด้วยปัญหาและความสำคัญที่นำมาสู่งานวิจัย เพื่อนำเสนอสิ่งที่เราสงสัย หรือสิ่งที่เป็นปัญหาที่นำมาสู่การทำงานวิจัยในครั้งนี้ ต่อมาเป็นงานวิจัยที่มีการดำเนินงานมาในอดีตเพื่อค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยที่เราสนใจจะทำ ต่อมาคือการเขียนในส่วน Objective ให้ชัดเจนและสอดคล้องกับโจทย์วิจัย ถัดจากการเขียนในส่วน Objective มาคือ Methodology ที่ควรร่างไว้เพื่อให้เราเห็นถึงขอบเขตและลักษณะกระบวนการของงานวิจัยที่เราจะทำ และท้ายสุดคือ ควรทบทวนสิ่งที่เขียนมาโดยผู้วิจัยเอง และเพื่อน ๆ หรือผู้เชี่ยวชาญ และหาจุดอ่อน จุดบกพร่องเพื่อแก้ไข ปรับปรุง

2. การสืบค้นงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง – การสืบค้นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องนั้น ควรเป็นการสืบค้นงานวิจัยที่ไม่เก่าจนเกินไป โดยสืบค้นงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารที่มีคุณภาพ เพื่อคุณภาพของข้อมูลที่เราค้นคว้ามา โดยการสืบค้นนั้น ควรนำข้อมูลงานวิจัยที่เราสืบค้นมาได้มาเรียบเรียงถ่ายทอดไว้ในโครงร่างที่ผู้วิจัยจัดทำขึ้นด้วย รวมทั้งควรพิจารณาว่างานวิจัยที่สืบค้นมานั้นสามารถใช้ประกอบการอธิบายงานวิจัยที่เราจะนำเสนอได้หรือไม่

3. การจัดสรรเวลาให้เพียงพอ – ควรทำการระบุลงไปในตารางการทำงานเลยว่าวันนี้ทำอะไรบ้าง และควรกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่ากระบวนการต่าง ๆ จะดำเนินการเสร็จสิ้นเมื่อใด

4. เริ่มเขียนข้อเสนอโครงการตามแผนการที่วางไว้

5. อ่านตรวจทานอย่างน้อย 1 - 2 ครั้ง เมื่อเขียนครบแล้วควรทบทวนสิ่งที่เขียนมาโดยผู้วิจัยเอง และเพื่อน ๆ หรือผู้เชี่ยวชาญ อย่างน้อย 1 - 2 ครั้ง และหาจุดอ่อน จุดบกพร่องเพื่อแก้ไข ปรับปรุง เช่น อาจมีการเขียนโดยภาษาที่ยังไม่ชัดเจน หรือการบวนการดำเนินงานวิจัยยังไม่ชัดเจน เมื่อทราบถึงจุดบกพร่องแล้วทางผู้เขียนโครงร่างงานวิจัยจะได้นำมาปรับปรุง

6. การเลือกแหล่งทุนที่จะเสนอโครงการ และการแก้ไขข้อเสนอโครงการตามการแนะนำของ reviewers

7. วางแผนการทำวิจัยเพื่อเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยในครั้งต่อไป