การตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารระดับนานาชาติ
2 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ดร.เด่นชัย ปราบจันดี และ ดร.พรรณวลัย เกวะระ คณะศึกษาศาสตร์ เปิดอ่านแล้ว 5 ครั้ง

          ตามที่ฝ่ายยุทธศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารระดับนานาชาติ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559 โดยสามารถสรุปประเด็นเพื่อเป็นแนวปฏิบัติ เรื่อง การตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารระดับนานาชาติ ได้ดังนี้

         1.  เคล็ดลับสำหรับการตีพิมพ์ผลงานวิจัย

             ขั้นตอนการเตรียมบทความวิจัย (manuscript) เพื่อตีพิมพ์ในวารสาร มีดังนี้

             1)  วางแผนเตรียมการเรื่องตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่วางแผนทำวิจัย และศึกษาข้อมูลวารสารที่สนใจ เป็นวารสารที่ได้รับการรับรองในระดับใด ตรงตามเกณฑ์ที่ต้องการหรือไม่ หัวข้อเรื่องที่ทำวิจัยและระเบียบวิธีวิจัยสอดคล้องกับแนวทางของวารสารที่ต้องการหรือไม่

             2)  เมื่อดำเนินการวิจัยแล้วเสร็จควรเตรียมบทความเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ตามแนวทางที่วารสารที่ต้องการตีพิมพ์กำหนด ซึ่งควรปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัดเพราะมีผลต่อการพิจารณาตอบรับการตีพิมพ์

             3)  เขียนบทความวิจัยให้มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันทั้งเรื่อง และเน้นสาระสำคัญที่โดดเด่นที่ต้องการเสนอให้ผู้อ่านทราบ

             4)  การเขียนบทความภาษาอังกฤษ ควรใช้ภาษาที่ง่าย เมื่อเสร็จแล้วขอให้ editor ช่วยตรวจและใช้ภาษาทางการให้อีกครั้ง

             5)  การตั้งชื่อผลงานวิจัยเพื่อลงตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ ควรใช้คำลงท้ายว่า “in Thailand” เพื่อเป็นจุดสนใจในการพิจารณาวารสาร

             6)  การเตรียมบทความวิจัยห้ามใส่ชื่อเจ้าของผลงานลงไปใน Manuscript

             7)  การเขียนจดหมาย (Cover Letter) เพื่อส่งผลงานวิจัยตีพิมพ์ เป็นเขียนบอกว่างานวิจัยที่จะส่งตีพิมพ์ไม่เคยลงตีพิมพ์ที่ไหนมาก่อน

             8)  การเขียนอ้างอิง (Reference) สามารถเขียนเยอะได้ไม่จำกัดจำนวน หากงานวิจัยนั้นต้องการลงตีพิมพ์ในวารสารไหน ควรมีการอ้างอิง (Cite) กับวารสารไหนนั้นด้วย เพื่อเป็นการยกย่องวารสารนั้น ๆ

 

         2.  การเลือกวารสาร

             โดยพิจารณาเลือกวารสารที่มีขอบข่าย (Scope) และวัตถุประสงค์ที่ตรงกับบทความของเรา ซึ่งโดยปกติจะปรากฏอยู่ด้านหน้าและหลังวารสารแต่ละฉบับ หรืออาจตรวจสอบได้จากเว็บไซด์ของวารสารฉบับดังกล่าว หรือตรวจสอบวารสารที่เป็นที่ยอมรับได้ที่ฐานข้อมูล Scopus ที่เว็บไซต์ http://www.scopus.com/source/eval.uri หรือส่วนคุณภาพของวารสารพิจารณาจากค่า Impact factor ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพของวารสาร และค่าควอไทล์เป็นดัชนีอีกชนิดหนึ่งที่ใช้ตรวจสอบคุณภาพของวารสาร โดยสามารถเข้าดูได้ที่เว็บไซต์ http://www.scimagojr.com/journalsearch.php โดยการเลือกวารสารจะขึ้นอยู่กับปัจจัยเฉพาะของแต่ละบุคคลด้วย ทั้งนี้ข้อควรคำนึงอีกประการคือ โดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้วไม่ควรส่งต้นฉบับไปให้วารสารหลาย ๆ ฉบับพร้อม ๆ กัน หรือกล่าวอีกนัยคือ ส่ง ต้นฉบับให้วารสารครั้งละหนึ่งฉบับเท่านั้น ดังนั้นนักวิจัยบางคนจึงเลือกส่งวารสารที่มีคุณภาพสูงสุดก่อน ถ้าถูกปฏิเสธจึงส่งไปยังวารสารที่มีคุณภาพฉบับรองลงไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้รับการตอบรับ ในขณะที่นักวิจัยบางคนเลือกส่งฉบับที่มีคุณภาพกลาง ๆ หรือบางคนเลือกคุณภาพที่ไม่สูงเพื่อจะได้มีโอกาสในการตอบรับสูง เพราะโอกาสที่จะได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับแนวหน้าย่อมยากและใช้เวลาใน การรอคอยที่ยาวนานกว่า เมื่อเลือกวารสารได้แล้ว ให้หาข้อมูลเกี่ยวกับวารสารฉบับนั้น โดยให้ดูจาก “คำแนะนำสำหรับผู้เขียน” (Guide for authors) ซึ่งจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับว่าจะเขียนบทความอย่างไรถ้าต้องการตีพิมพ์ในวารสารฉบับดังกล่าว เช่น ประเภทของบทความ บางฉบับตีพิมพ์เฉพาะบทความวิจัย หรือบางฉบับมีบทความเชิงวิชาการด้วย มีการประเมินหรือไม่ (Peer review) รูปแบบการเขียน (Style) และรูปแบบการอ้างอิงใช้ระบบใด ให้ยึดตามแนวทางที่เขาแนะนำ และสามารถดูคุณภาพของ

 

         3. รูปแบบการเขียนเอกสารอ้างอิงโดยใช้ระบบ APA

             APA Style ของ American Psychological Association เป็นรูปแบบการเขียนอ้างอิงสำหรับสาขาวิชาจิตวิทยา และเป็นที่นิยมแพร่หลายในสาขาศึกษาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสาขาสังคมศาสตร์ โดยการเขียน APA ให้ใช้คำว่า “I” หรือ “We” เพื่อบอกว่าใครเป็นคนทำวิจัย ภาษาที่ใช้มักจะเป็น Active Voice และการเขียน APA ต้องกำหนด Section ที่ระบุเกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยด้วย

 

         4. วิธีการเขียนบทคัดย่อ (Abstract)

             บทคัดย่อ (Abstract) มีองค์ประกอบต่าง ๆ ได้แก่ วัตถุประสงค์ สถิติ กลุ่มตัวอย่าง ผลการวิจัย รูปแบบการวิจัย วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล ข้อเสนอแนะ (Recommendation) ซึ่งโดยทั่วไปวิธีการเขียนมีหลายวิธี แล้วแต่ลักษณะการเขียนของแต่ละคน โดยมีจุดประสงค์ คือ เป็นการสรุปงานวิจัยหลัก ๆ และเป็นการสรุปเพื่อให้คนนำไปใช้ การเขียนบทคัดย่อ (Abstract) จะเขียนก่อนทำวิจัยหรือเขียนหลังจากงานวิจัยเสร็จก็ได้ เพราะขึ้นอยู่กับความสะดวกและการกำหนดกรอบในการวิจัย และในการเขียน บทคัดย่อ (Abstract) ควรเขียน #hashtag โดยการเขียนคำซ้ำ ๆ ที่เป็นประเด็นหลักของการวิจัย เพื่อใช้สำหรับในการอ้างอิง (cite)

 

เอกสารอ้างอิง : การตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารระดับนานาชาติ