บทความวิชาการ
29 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ผศ.ดร.ศรัณยา เลิศพุทธรักษ์ วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ เปิดอ่านแล้ว 15 ครั้ง
ไฟล์แนบ : บทความวิชาการ

การเขียนบทความวิชาการ

ดร.ศรัณยา เลิศพุทธรักษ์

บทความวิชาการเป็นงานเขียนที่นำเสนอสาระความรู้และแนวความคิดต่าง ๆ ที่ผู้เขียนมีความรู้ความเข้าใจ สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวทางวิชาการของผู้เขียนในการแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ มาถ่ายทอดหรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อ่าน โดยบทความที่นำเสนอต้องมีความสำคัญต่อผู้เขียน ต่อวงการวิชาชีพ และต่อสังคม นักวิชาการใหม่ ๆ จำนวนมากที่ขาดทักษะในการเขียนบทความ ดังนั้นวัตถุประสงค์ที่เขียนบทความนี้ผู้เขียนต้องการให้ผู้อ่านเกิดความรู้ความเข้าใจในหลักการเขียนบทความในเบื้องต้น แต่อย่างไรก็ดี การที่จะเขียนบทความได้ดีนั้นต้องเกิดจากการฝึกฝนสะสมประสบการณ์

บทความวิชาการ (Academic article) เป็นงานเขียนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์หรือวิพากษ์ทัศนะหรือแนวคิดที่มีทาก่อนหน้านี้ หรือจะเป็นการเขียนเพื่อนำเสนอและเผยแพร่ความรู้ใหม่ ให้ผู้อ่านเกิดความเชื่อถือและการปรับเปลี่ยนแนวคิดตามผู้เขียน ซึ่งบทความที่ดีจะต้องเน้นการให้ความรู้ที่มีหลักฐานประกอบ มีเอกสารอ้างอิงอย่างชัดเจนถึงที่มาของข้อมูล ดังนั้นผู้เขียนจะต้องคำนึงถึง

1. ใคร (Who) จะเป็นผู้อ่านหลักบทความที่นำเสนอ

2. ประเด็นหรือเรื่องที่ต้องการจะเขียน (What) เพื่อที่จะได้เลือกใช้ภาษาที่เหมาะสมและหยิบยกประเด็นได้ตรงตามความสนใจทั้งผู้เขียนและผู้อ่าน

3. ช่วงเวลาที่จะเผยแพร่บทความ (When) เพราะบทความที่ดีต้องทันสมัยทันเหตุการณ์ มีข้อมูลปัจจุบันมานำเสนอ การยกตัวอย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์ในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้

4. เหตุผลที่ต้องการนำเสนอเรื่องที่เขียน (Why)

5. การกำหนดประเด็นเพื่อวางโครงเรื่องที่จะเขียน (How) ว่าผู้เขียนต้องการเขียนกี่ประเด็น มีประเด็นหลักประเด็นรองอย่างไรบ้าง และในแต่ละประเด็นจะเขียนถึงอะไร จะนำเอกสารอ้างอิงมาประกอบการเขียนจากแหล่งไหน อ้างอิงมากน้อยเพียงใด  ดังนั้นการวางโครงเรื่องจึงมีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้ผู้เขียนไม่หลงประเด็น ไม่เขียนซ้ำซาก และไม่สับสน

การวางโครงเรื่องต้องกำหนดขอบเขตที่จะเขียนอย่างชัดเจน เนื้อเรื่องต้องมีความสัมพันธ์กันโดยผู้เขียนอาจเรียงตามลำดับความสำคัญหรือเรียงตามลำดับเหตุการณ์ก่อน-หลัง ทั้งนี้ผู้เขียนต้องมีการค้นหาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วจากฐานข้อมูล หนังสือ วารสาร นิตยสาร หรือสื่ออื่น ๆ ที่มีความน่าเชื่อถือ รวมทั้งข้อมูลจากประสบการณ์ นอกจากนี้ผู้เขียนสามารถเก็บข้อมูลเพิ่มเติมมาประกอบการเขียน เช่น การสัมภาษณ์ การสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

ส่วนประกอบของบทความ

1. ชื่อเรื่อง (title) ต้องกำหนดให้ชัดเจน เพราะการตั้งชื่อเรื่องที่ดี น่าสนใจ จะทำให้ผู้อ่านเกิดความต้องการที่จะเข้ามาอ่าน ชื่อเรื่องที่ดีไม่ควรยาวมาก และใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เหมาะสมกับกลุ่มผู้อ่าน

2. ชื่อผู้เขียน (author) ควรใช้ชื่อจริง ไม่ควรใช้นามแฝง

3. บทคัดย่อ (abstract) วารสารที่รับที่ตีพิมพ์บทความวิชาการจะกำหนดความยาวของบทคัดย่อ ซึ่งโดยปกติจะมีความยาวไม่เกินครึ่งหน้า การเขียนบทคัดย่อต้องเขียนให้ครอบคลุมประเด็นสำคัญที่เขียนในเนื้อหาและต้องมีความชัดเจน

4. บทนำ (Introduction) เป็นส่วนสำคัญในการดึงความสนใจของผู้อ่าน เน้นถึงความสำคัญของการเขียนบทความ นอกจากนี้ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่ การแสดงวัตถุประสงค์ต้องแสดงสาเหตุและประโยชน์ที่จะได้รับจากการอ่านบทความ ต้องแสดงขอบเขตของเนื้อหา

 5. เนื้อเรื่อง (Body) การเขียนต้องจำแนกหัวข้อหรือประเด็นให้ชัดเจนเพื่อความสะดวกของผู้อ่าน และง่ายต่อการทำความเข้าใจ เนื้อเรื่องต้องมีการจัดย่อหน้าเรียงตามลำดับอย่างเหมาะสมว่าจะเขียนประเด็นใดก่อน-หลัง เนื้อหาจะต้องมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันจากย่อหน้าหนึ่งสู่อีกย่อหน้าหนึ่ง เช่น จากเหตุไปสู่ผล หรือ จากช่วงเวลาหนึ่งดำเนินสู่อีกช่วงเวลาหนึ่งตามลำดับเวลา หรือเรียงตามลำดับความสำคัญ เรียกว่า ความมีสัมพันธภาพ และในแต่ละย่อหน้าควรมีใจความสำคัญเพียงประเด็นเดียว ที่เรียกว่า ความเป็นเอกภาพนอกนั้นจะเป็นส่วนขยาย ไม่มีข้อจำกัดว่าย่อหน้าควรมีความยาวเท่าใด แต่โดยปกติจะมีความยาวประมาณ 3-10 บรรทัด และในส่วนที่แสดงถึงใจความสำคัญควรมีการเน้นย้ำ ที่เรียกว่า ความมีสารัตภาพ

6.ส่วนสรุป (Conclusion) เป็นการนำเนื้อหาทั้งหมดมาสรุปเลือกเฉพาะประเด็นสำคัญมาเขียนรวมกันไว้

7. ส่วนอ้างอิง (References) ในการเขียนบทความต้องมีการศึกษาค้นคว้าข้อมูล ดังนั้นจึงต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล ที่ถูกต้องตาม format ของวารสารที่จะตีพิมพ์บทความ

กล่าวโดยสรุป คือ การเขียนบทความคืองานเขียนที่แสดงให้เห็นถึงความรู้ของผู้เขียน และเจตนารมย์ของผู้เขียนที่จะให้ผู้อ่านได้รับความรู้ความเข้าใจในประเด็นที่ต้องการเขียน บทความที่ดีต้องมีความน่าสนใจ มีการใช้ภาษาที่เหมาะสม และการเขียนที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยการกำหนดชื่อเรื่อง วัตถุประสงค์ และเนื้อหาที่กระชับ สอดคล้องกัน และมีการอ้างอิงที่มาของข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ