36th Thailand TESOL “The Changing Landscape of ELT : Empowerment Through Glocalization”
13 กันยายน พ.ศ. 2559 Ajarn Rachnee Kraikum สถาบันภาษา เปิดอ่านแล้ว 10 ครั้ง

รายงานสรุป

การเข้าร่วมการประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติ

36th Thailand TESOL The Changing Landscape of ELT :

Empowerment Through Glocalization”

วันที่ ๒๙-๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เวลา ๐๘.๓๐-๑๗.๐๐ น.

ณ โรงแรม Pullman Khon Kaen Raja Orchid Hotel จ.ขอนแก่น

 

1. วัตถุประสงค์ของการจัดประชุม : การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแนวทางการเรียนการสอน และการวิจัยภาษาอังกฤษในชั้นเรียนที่จะตอบรับการใช้ภาษาอังกฤษในประชาคมอาเซียน และเพื่อการปรับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

2. เนื้อหาและหัวข้อการประชุมที่ผู้เข้าประชุมเข้าร่วม มีดังนี้

2.1  แนวทางกำหนดนโยบายด้านภาษาของกระทรวงศึกษาธิการ

โดย นายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ประธานเปิดการประชุมวิชาการ Thailand TESOL 2016)

 

Thailand TESOL เป็นการประชุมวิชาการระดับนานาชาติการสอนภาษาอังกฤษให้กับผู้เรียนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก จัดโดยสมาคมครูผู้สอนภาษาอังกฤษแห่งประเทศไทย โดยมีครู คณาจารย์ นักวิชาการ นักศึกษา ตลอดจนสถาบันสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยจำนวนมากเข้าร่วมการประชุม จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของประเทศไทย จะได้รับทราบแนวทางและนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในการจัดการเรียนการสอนและพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้กับเยาวชนและประชาชนทั่วไป

ทั้งนี้ ปัญหาด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่พบในปัจจุบันของประเทศ คือ การที่เด็กสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือปริญญาตรีแล้ว แต่ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากมีจำนวนชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษน้อย เช่น นักเรียนระดับชั้น ป.1-ป.3 จะได้เรียนภาษาอังกฤษสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง, นักเรียนชั้น ป.3-ป.6 ได้เรียนภาษาอังกฤษสัปดาห์ละ 2 ชม. และนักเรียนในระดับชั้น ม.3 ได้เรียนภาษาอังกฤษสัปดาห์ละ 3 ชม. ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 300 ปี หากจะทำให้เด็กไทยเก่งภาษาอังกฤษได้ และยังพบว่าเด็กไทยใช้เวลาเรียนหนังสือในห้องเรียนมากกว่าเด็กในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เพราะต้องเรียนทั้งหมด 8 กลุ่มสาระวิชา แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดี

ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ดำเนินการปฏิรูปการศึกษาในทุกด้าน รวมทั้งยกระดับภาษาอังกฤษในทุกหลักสูตร โดยกำหนดนโยบายต่างๆ เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาประสบผลสำเร็จ ดังนี้

1) สร้างความตระหนักที่ผู้เรียนจำเป็นจะต้องใช้ภาษาอังกฤษ และตระหนักว่าภาษาอังกฤษนั้นสำคัญมาก เพราะเป็นภาษาของโลก ทางการทูต วิทยาศาสตร์ อีกทั้งข้อมูลร้อยละ 75 ของโลกยุคปัจจุบันก็เป็นภาษาอังกฤษ ทุกคนจึงต้องขวนขวายเพื่อพัฒนาภาษาอังกฤษ ต้องขยันและฝึกฝนด้วยตนเอง เพราะไม่มีทางลัดที่จะทำให้เราเก่งภาษาอังกฤษได้ 

2) เพิ่มคลังคำศัพท์เพื่อนำมาใช้ในการสื่อสารให้ได้โดยการจดจำคำศัพท์หรือการอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ เพราะเราไม่สามารถหาความหมายของคำจากพจนานุกรมหรือจากอินเทอร์เน็ตได้ตลอด

3) กำหนดนโยบายด้านภาษา (Language Policy) เป็นสิ่งสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการพัฒนาภาษาอังกฤษในแต่ละประเทศ

นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบาย

1) ปรับระบบการสอบให้มีการสอบแบบอัตนัยมากขึ้น โดยจะเปลี่ยนข้อสอบทุกปี อีกทั้งยังมีนโยบายยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษในทุกระดับชั้น โดยต้องเปลี่ยนมาตรฐานต่างๆ ของภาษาอังกฤษให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

2) จะมีการจัด Boot Camp ในการอบรมภาษาอังกฤษให้กับครูผู้สอนภาษาอังกฤษ และ

 

3) กำหนดมาตรฐานการสอบอังกฤษก่อนสำเร็จการศึกษา ซึ่งจะทดสอบทักษะภาษาอังกฤษทั้ง 4 ด้าน โดยจะมีการแสดงผลการวัดระดับภาษาอังกฤษใน Transcript แต่ไม่ใช่เกรด และผลการทดสอบนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการสมัครงานในอนาคตได้ โดยข้อสอบที่จะใช้วัดระดับภาษาอังกฤษต้องมีมาตรฐานด้วย

4) กระทรวงศึกษาธิการจะไม่ดำเนินนโยบายแบบ Top-Down แต่จะเน้นให้ทุกคนมีส่วนร่วมเท่ากัน เราต้องช่วยกันเพราะเรื่องการศึกษาไม่ใช่เรื่องรับผิดชอบของคนๆ เดียว

 

2.2  ทักษะของผู้เรียนสำหรับศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills (7Cs))

โดย Andrew Lian (Plenary Speaker) Professor, School of Foreign Languages at Suranaree University of Technology and President of AsiaCALL (Asia Association of Computer-Assisted Language Learning)

 

1) ความสามารถในการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา (Critical Thinking & Problem Solving)

2) ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creativity ฿ Innovation)

3) ความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork, & Leadership)

4) ความเข้าใจความต่างด้านวัฒนธรรม (Cross-Cultural Understanding)

5) การสื่อสารและการรู้เท่าทันสื่อ (Communication and Media Literacy)

6) ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์และไอซีที (Computing and ICT Literacy)

7) อาชีพและการเรียนรู้การพึ่งพาตนเอง (Career and Learning Self-Reliance)

 

2.3  วิธีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศในบริบทโลกาภิวัตน์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย  (Teaching English as a foreign language in the glocalization contexts of South East Asia and Thailand)

 

2.3.1 โดย Numa Markee , an Emeritus Associate Professor จาก the University of Illinois

ผู้สอนควรให้ผู้เรียนได้สื่อสารอย่างคล่องแคล่วให้มากที่สุดตามที่ผู้เรียนสามารถจะสื่อสารได้ก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงสอนผู้เรียนให้เรียนรู้หลักการภาษาอังกฤษที่ถูกต้อง เช่น ไม่ควรเริ่มต้นบทเรียนด้วยการแปลคำศัพท์หรือสอนหลักไวยากรณ์ แต่ควรเริ่มต้นด้วยการให้ผู้เรียนได้สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษที่ผู้เรียนมีความรู้เดิมอยู่ก่อนแล้ว

 

2.3.2 โดย Yilin Sun, President at TESOL International Association (2014-2015)

แนวโน้มในด้านการสอนภาษาอังกฤษในปัจจุบันสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก คือ

โลกาภิวัตน์ (globalization) การปรับเปลี่ยนให้เข้ากับท้องถิ่น (localization) และการทำงานร่วมกันแบบสหวิทยาการ (interdisciplinary collaboration)

1)   การเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการเรียนการสอนและการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ

2)   การเปลี่ยนแปลงในเป้าหมายของการสอนและการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ

3)   การเปลี่ยนแปลงในวิธีการเรียนการสอน

4)   การเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาการเรียนการสอนการออกแบบหลักสูตรและการประเมิน

5)   การเพิ่มขึ้นของความสามารถด้านการสื่อสาร

6)   มุมมองที่เปลี่ยนไปเกี่ยวกับนักการศึกษาด้านภาษาอังกฤษที่มีประสิทธิภาพ

7)   การพัฒนาอย่างรวดเร็วและการบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศในการสอนภาษาอังกฤษ

8)   การเปลี่ยนบทบาทและเพิ่มความรับผิดชอบของผู้สอน

 

ด้วยแนวโน้มใหม่เหล่านี้ บทบาทของผู้สอนในปัจจุบัน จึงมีการพัฒนาและความรับผิดชอบได้เพิ่มขึ้น ห้องเรียนในศตวรรษที่ 21 ผู้สอนมีหลายบทบาทและความรับผิดชอบในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของนักเรียนและผู้สร้างสภาพแวดล้อมในห้องเรียนให้เหมาะสมให้นักศึกษาสามารถพัฒนาทักษะที่พวกเขาจำเป็นต้องมีสำหรับตลาดแรงงานในศตวรรษที่ 21

 

2.4 หัวข้อการนำเสนอ/หัวข้อวิจัยต่างๆเกี่ยวกับการเรียนการสอน การฟัง-พูด-อ่าน-เขียนภาษาอังกฤษ

2.5 เว็บไซต์สมาคมครูผู้สอนภาษาอังกฤษแห่งประเทศไทย http://www.thailandtesol.org